สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย, จังหวัดลำปาง

ประวัติความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2521 ศ.ดร.อำนวย  คอวนิช อดีดผู้อำนวยการ อ.อ.ป. ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองทำไม้ภาคเหนือ ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ตั้ง “ศูนย์ฝึกลูกช้าง” ขึ้นที่บ้านปางหละ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง

โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ

  •  เพื่อฝึกลูกช้างให้มีความอดทน แข็งแรง และมีความชำนาญในการทำไม้ทุกประเภท
  • เพื่อฝึกลูกช้างให้มีนิสัยดี เชื่อฟังคำสั่ง ไม่ดุร้าย
  •  เพื่อแยกลูกช้างออกจากแม่ เพื่อให้แม่ช้างมีโอกาสทำงานเต็มที่
  • เพื่อให้ลูกช้างมีความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งูพิษ ฯลฯ
  • เพื่อให้ลูกช้างอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดกับสัตวแพทย์

สามารถกล่าวได้ว่าศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างทำไม้แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการใช้ช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้นั้นดำเนินมานานนับร้อยปี และสืบเนื่องเรื่อยมาโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นหลัก จนกระทั่งทางรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศลง ในวันที่  17  มกราคม  2532 ทำให้ช้างเอกชนจำนวนมากและช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไม่มีงานทำ ช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รวบรวมนำมาไว้ที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ บางส่วนกระจายอยู่ตามสวนป่าของ อ.อ.ป. แต่ยังพบว่ามีช้างของเอกชนบางส่วน มีการลักลอบทำไม้ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยกลุ่มช้างทำไม้ผิดกฎหมายเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 2,000 – 2,500 เชือก ซึ่งแต่ละเชือกสามารถทำรายได้ประมาณ 50,000 – 100,000 บาท ต่อเดือน ช้างกลุ่มนี้จะถูกใช้งานอย่างหนัก เนื่องจากเป็นงานที่ผิดกฎหมาย บางครั้งต้องทำงานในตอนกลางคืน บางครั้งเจ้าของให้กินยาบ้า ใช้ไฟเผากัน ใช้มีดหรือหอกแทง มีการลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อบังคับให้ช้างทำงานได้มาก ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมผู้กระทำผิดและจับช้างได้ ก็จะส่งช้างของกลางดังกล่าวมาให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลเพื่อรอศาลตัดสิน ซึ่งสภาพช้างของกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มักมีสภาพทรุดโทรม บางเชือกก็พิการ หลังหัก ขาหัก ตาบอดหรือมีบาดแผลทั่วทั้งตัว นับว่าศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละเป็นแหล่งรวมช้างที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 3 เมษายน 2534 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงถือเป็นนิมิตหมายที่จะได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันเป็นมงคลนี้ด้วยการย้ายศูนย์ฝึกลูกช้าง  ซึ่งมีเนื้อที่จำกัดไม่เหมาะกับสภาพการณ์ ที่มีช้างฝึก ช้างแก่ ช้างเจ็บป่วยและช้างของกลางรวมอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดตั้งเป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” แทนศูนย์ฝึกลูกช้างเดิม โดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ใช้พื้นที่จำนวน 383 ไร่ ติดต่อกับสวนป่าทุ่งเกวียนบริเวณทางหลวงสายลำปาง – เชียงใหม่ (ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 28 หมู่ 6ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเปิดศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและเอกลักษณ์การทำไม้ด้วยช้างของไทยไว้ และยังจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเรื่องช้าง เพื่อการศึกษาค้นคว้า หรือทำงานวิจัยอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งองค์การสากลเพื่ออนุรักษ์ช้างในประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีช้างอยู่ในครอบครองมากที่สุดประมาณ 80 เชือก

สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ

ในวันที่ 13 มกราคม 2545  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ได้เสด็จเยี่ยมช้างในพระอุปถัมภ์ฯ ช้างพังพระธิดาและช้างพังวนาลี ตลอดจนทรงเสด็จเยี่ยมกิจกรรมของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้กราบทูลถวายรายงานความตั้งใจที่จะยกฐานะของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้นเป็นสถาบันคชบาลแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตของการบริบาลช้างไทยให้ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมในการบรรเทาปัญหาที่เกิดกับช้าง เพื่อให้เกิดแนวทางในการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืนพร้อมกับอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไว้เป็นมรดก ให้สามารถสืบทอดต่อชนรุ่นหลังต่อไป จากนั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งนับว่าเป็นสิริมงคลและเป็นมิ่งขวัญในการพัฒนาสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ให้เจริญต่อไป

ข้อมูลคชากร

ช้างในความดูแลของสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

  •     ช้างสำคัญ           9  ช้าง

– จังหวัดลำปาง           6  ช้าง

– จังหวัดสกลนคร        3  ช้าง

  •      ช้างต้น                 2  เชือก

– จังหวัดลำปาง           1 เชือก (พลายบุญเลิศ)

– จังหวัดสกลนคร         1 เชือก (พังมด)

  •       ช้างในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพฯ                2  เชือก
  •       ช้างเลี้ยงในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย                  56  เชือก
  •       ช้างศูนย์เลี้ยงในศูนย์บริบาลช้างปางหละ      26  เชือก
  •        ช้างฝากเลี้ยง                                              2  เชือก

รวม      9  ช้าง   88  เชือก

*หมายเหตุ ข้อมูลคชกร ตามสรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เงินอุดหนุนรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

ที่อยู่

ที่มาของข้อมูล : https://www.thailandelephant.org

การแสดงช้างและรถบริการ

ใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที

จุดเด่นของการแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้แก่การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างซึ่งแพร่หลายในอดีตและถูกห้ามในปี พศ. 2532 นอกเหนือจากการแสดงความสามารถของช้างที่แล้ว การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างยังเป็นการแสดงความสามารถของควาญช้างในการควบคุมช้างในการทำไม้อีกด้วย อาทิเช่น การใช้ภาษาในการควบคุม ซึ่งมีมากกว่า 35-40 คำ และการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น

ด้านศิลปะ มีการแสดงความสามารถของช้างเช่น แสดงการวาดภาพ ได้แก่ ภาพตามจิตนาการ และ ภาพเหมือนจริง โดยช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยวาดภาพครั้งแรกในปี พศ 2540และ ระหว่างการแสดงของช้าง นักท่องเที่ยวสามารถซื้อรูปวาดช้างเป็นของที่ระลึกได้ และยังสามารถเลือกรูปวาดแบบต่างๆในห้องแสดงผลงานของช้างตรงบริเวณลานแสดงช้าง

มีวันละ 3 รอบ แสดงทุกวัน ยกเว้น วันช้างไทย ( วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี )

เวลา / Show Time

ช่วงเช้า (Morning)          10.00 น. / 10.00 a.m.
11.00 น. / 11.00 a.m.
ช่วงบ่าย (Afternoon)      13.30 น. / 1.30 p.m.

อัตราค่าบริการการแสดงช้าง

รายละเอียด / Detail            ราคา / price

ชาวไทย /Thai
เด็ก / Child                         50.- บาท / THB 50.-
ผู้ใหญ่ / Adult                   100.- บาท / THB 100.-

ชาวต่างชาติ /Foreigner
เด็ก / Child                        100.- บาท / THB 100.-
ผู้ใหญ่ / Adult                    200.- บาท / THB 200.-

อัตราค่ารถบริการ

รายละเอียด / Detail            ราคา / price
เด็ก / Child                        10.- บาท / THB 10.-
ผู้ใหญ่ / Adult                    25.- บาท / THB 25.-

หมายเหตุ ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

โทรศัพท์ (Tel.) 054 829 322 

ช้างอาบน้ำ

การแสดงช้างอาบน้ำ มีวันละ 2 รอบ
Elephant Bathing have 2 times/day

เวลา / Show Time
ช่วงเช้า (Morning)            09.45 น. / 09.45 a.m.
ช่วงบ่าย (Afternoon)        13.15 น. / 1.15 p.m.

มีช้างลงอาบน้ำอย่างพร้อมเพียงกัน หลังจากนั้นช้างทั้งหมดจะถือหางของแต่ละเชือกและเดินทางเข้าสู่ลานแสดง
การแสดงช้างอาบน้ำของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก โดยธรรมชาติแล้วช้างชอบอาบน้ำเพื่อระบายความร้อน และช้างจะอาบน้ำวันละหนึ่งถึงสองครั้ง ซึ่งช้างจะใช้งวงพ่นน้ำใส่ต้วเอง และควาญช้างจะช่วยทำความสะอาด และบ่อยครั้งจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในกิจกรรมโฮมสเตย์เข้าร่วม อาบน้ำให้ช้าง อย่างสนุกสนาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่มีกล้องถ่ายรูปไม่ควรพลาดโอกาสที่จะได้รูปสวยๆ เป็นของที่ระลึกก่อนกลับบ้าน

นั่งช้างชมธรรมชาติ

กิจกรรมนั่งช้างชมธรรมชาติ ให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08:00 น. จนถึง 15:30 น. นักท่องเที่ยวสามารถเลือกระยะเวลาในการนั่งเป็น 10 นาที 30 นาที และ 1 ชั่วโมง ซึ่งช้าง 1 เชือก สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้  จำนวน 2 คน

อัตราค่านั่งช้างชมธรรมชาติ

รอบ 10 นาที
ผู้ใหญ่
– ชาวไทย    อัตราค่าบริการ 100.-บาท/คน
– ชาวต่างประเทศ อัตราค่าบริการ 200.- บาท/คน

เด็ก (ความสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร)
– ชาวไทย    อัตราค่าบริการ 30.-บาท/คน

รอบ 30 นาที
– ชาวไทย และชาวต่างประเทศ เหมาจ่าย 500.-บาท/ช้าง 1 เชือก

รอบ 1 ชั่วโมง
– ชาวไทย และชาวต่างประเทศ เหมาจ่าย 1,000.-บาท/ช้าง 1 เชือก