วิหารจามเทวี

วิหารจามเทวี

ผู้ที่มีความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ไม่ควรพลาดที่จะไปชมวิหารจามเทวีหลังนี้ เพราะเป็นวิหารที่เก่าแก่อายุกว่าพันปี นอกจากนั้นบริเวณเสาวิหารยังประดับด้วยลายเขียนศิลปะแบบพื้นเมืองเหนือ เขียนด้วยรักปิดทองซึ่งจากวิหารอื่น ๆ ที่เขียนด้วยลายน้ำแต้ม ถือว่าเป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงาม วิจิตรบรรจงด้วยฝีมือของสกุลช่างเมืองเขลางค์ชั้นยอด อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของเมืองลำปาง

เมืองลำปางหรือเขลางค์นคร เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของล้านนาไทยและมีความสำคัญย้อนขึ้นไปถึงประวัติศาสตร์ยุคต้น ๆ คือตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 กระทั่งมีตำนาน เอกสารประวัติศาสตร์หลายต่อหลายเล่ม กล่าวถึงการสร้างเมืองลำปางมากมาย อาทิ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ หรือแม้แต่ตำนานจามเทวีวงศ์ ซึ่งเป็นตำนานพื้นเมืองเหนือล้วนกล่าวถึงการสร้างเมืองลำปางไว้ว่า

เขลางค์นครสร้างขึ้นโดยเจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งนครหริภุญชัย เมื่อปี พ.ศ.1223 เมื่อเจ้าอนันตยศมาปกครองเขลางค์นครได้ระยะหนึ่ง ก็ได้ทูลเชิญพระนางจามเทวีเสด็จมาประทับที่เมืองของพระองค์และได้สร้างบริเวณพระราชฐานต้อนรับพระนางจามเทวีอยู่ใกล้ ๆ กับเขลางค์นคร เรียกว่า “อาลัมภางค์นคร” ต่อมาเมืองทั้งสองถูกรวมเข้าด้วยกันเรียกว่า “เขลางค์อาลัมภางค์นคร” ในสมัยหลังชื่อของเมืองนี้จึงถูกเรียกให้สั้นลงเหลือ “ลำภางค์นคร” “ลำปางนคร” จนกลายเป็น “นครลำปาง” ในที่สุด

เมืองลำปางเป็นเมืองเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อราวกว่า 1,000 ปีมาแล้ว โบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันพอจะสืบค้นรากเหง้าของประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ เห็นจะได้แก่วิหารจามเทวี ซึ่งอยู่ภายในวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร กล่าวกันว่า วิหารหลังนี้ พระนางจามเทวีได้ดำริสร้างขึ้น เมื่อราวปี พ.ศ.1253 เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จจากเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เพื่อมาเยี่ยมเจ้าอนันตยศ ราชบุตรที่มาครองเขลางค์นครพร้อมกับถวายฉัตรทองคำสำหรับนำไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง

ขณะที่พระนางจามเทวีได้เดินทัพไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง ช้างพระที่นั่งได้ทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ เมื่อพระนางจามเทวีเห็นจึงเป็นที่อัศจรรย์ ท่านจึงได้สั่งให้พักพล ณ ที่นั้น กระทั่งคืนหนึ่งเวลากลางคืน พระนางจามเทวีได้อธิษฐานว่า ถ้า ณ ที่แห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ขอปรากฏปาฏิหารย์ขึ้น ทันใดนั้นก็ปรากฏแสงฉับพรรณรังษีแห่งองค์พระบรมสารีริกธาตุพวยพุ่งออกมาจากจอมปลวกแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจามเทวีเห็นเช่นนั้นจึงบัญชาให้ทหารทั้งหลายปลูกวิหารขึ้น ณ ที่จอมปลวกแห่งนั้นด้วยมณฑปปราสาท

วิหารจามเทวีหลังนี้มีความกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร มุงด้วยแป้นไม้เกร็ด วิหารหลังนี้เป็นวิหารขนาดเล็กศิลปะแบบล้านโบราณยุคหริภุญชัย สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ตอนล่างเปิดโล่งตลอด ไม่มีประตูหน้าต่าง ตอนท้ายสุดของวิหารมีผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้านล้อมกู่พระเจ้าหรือโขงพระเจ้า ลักษณะการก่อสร้างของวิหารจามเทวีเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสกุลช่างเขลางค์นคร ว่ากันว่าเป็นวิหารที่มีความสวยงามตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมภาคเหนือ ฐานพระวิหารยกสูงจากพื้นดินหนึ่งฟุต ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานว่าแต่เดิมฐานพระวิหารคงจะมีความสูงกว่านี้ แต่เนื่องจากในอดีตมีน้ำหลากพาดินจากที่อื่นมาท่วมทับถมทุกปีเป็นเวลากว่าพันปีมาแล้ว ขณะเดียวกันความเชื่อในเรื่องการขนทรายเข้าวัดของคนล้านนาที่นิยมนำทรายมาถมในวัดจึงเป็นสาเหตุให้ฐานของวิหารจามเทวีเหลือเพียงหนึ่งฟุต

ภายในวิหารจามเทวีมีการเขียนลายน้ำรักปิดทองบนพื้นสีแดง ได้แก่รูปลายกระถาง หรือ หม้อบุรณะฆะฏะ ซึ่งหมายถึงความเจริญของหมู่ชนในเขตตำบลปงยางคก และลายกนกเครือเถาว์ ลายเทพยดา ลายดาว ลายเรขาคณิต เป็นต้น

ผู้ที่มีความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ไม่ควรพลาดที่จะไปชมวิหารจามเทวีหลังนี้ เพราะเป็นวิหารที่เก่าแก่อายุกว่าพันปี นอกจากนั้นบริเวณเสาวิหารยังประดับด้วยลายเขียนศิลปะแบบพื้นเมืองเหนือ เขียนด้วยรักปิดทองซึ่งจากวิหารอื่น ๆ ที่เขียนด้วยลายน้ำแต้ม ถือว่าเป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงาม วิจิตรบรรจงด้วยฝีมือของสกุลช่างเมืองเขลางค์ชั้นยอด อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของเมืองลำปาง

ปัจจุบันวิหารจามเทวีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้แก่หนานทิพย์ช้าง บรรพบุรุษของเจ้าผู้ครองนครนแคว้นล้านนา ซึ่งท่านเกิดที่บ้านปงยางคกและได้ศึกษาบวชเรียนที่วัดแห่งนี้ จากความสำคัญของวิหารจามเทวีหลังนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทาน เกียรติบัตรให้แก่วิหารจามเทวีในฐานะสถาปัตยกรรมด้านอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อปี พ.ศ.2543

หากมีโอกาสผ่านไปแถวอำเภอห้างฉัตร ลองแวะไปชมความสวยงามของวิหารจามเทวีที่วัดปงยางคกดูบ้าง บางทีท่านจะได้รู้ว่าในเมืองลำปางยังมีของดีของเก่าที่ยังหาชมได้อยู่