อนุเสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตาน

ประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตาน ตำนานเขลางค์นคร

ลำปาง “เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา” จังหวัดลำปางถือได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นมากมายทั้ง วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตท้องถิ่นที่เรียบง่าย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม รวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก่อนจะมาเป็นจังหวัดลำปางในปัจจุบัน

หากจะพูดถึงสถานที่แห่งนี้บางทีคนลำปางเองก็ยังไม่คุ้นหูหรือบางคนอาจจะยังไม่รู้จักซึ่งเป็นสถานที่ที่อยากจะแนะนำให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีได้รู้จักคือ”อุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตาน” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

มีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเจ้าพ่อขุนตาน (พญาเบิก) ว่า “ในปี พ.ศ. ๑๘๑๔ ครั้งพญายีบาเป็นเจ้าเมืองนครหริภุญชัย(ลำพูน)ก็ได้ให้พญาเบิกราชบุตรในฐานะยุพราชไปครองเมืองเขลางค์นคร(ลำปาง)จนกระทั่งปีพ.ศ.๑๘๒๔กองทัพพญามังรายเจ้าเมืองเชียงรายและเจ้าเมืองฝางได้ยกไพร่พลมาตีเมืองหริภุญชัยแตกและยึดเมืองได้พญายีบาจึงเสด็จหนีไปพึ่งพญาเบิกผู้เป็นราชบุตรที่เมืองเขลางค์นคร พญาเบิกจึงสะสมไร่พลไว้ป้องกันเมืองจึงไปสร้างเมืองต้านศึกในพื้นที่เขตอำเภอห้างฉัตร เมืองนั้นมีนามว่า เวียงต้านหรือเวียงตาลในปัจจุบัน การสู้รบที่เมืองต้านศึกทำให้พญาเบิกพ่ายแพ้เสียทัพอย่างสิ้นเชิง จึงถูกจับได้ก็ไม่อาจใช้ศาสตราวุธใด ๆ ปลงพระชนม์ได้เนื่องจากคงกระพันชาตรีเป็นที่ยิ่ง ทหารจึงนำตัวพญาเบิกไปขุดหลุมฝังทั้งเป็นจนสิ้นพระชนม์” (ที่มา นายอุดม สืบหล้า)

จากประวัติศาสตร์นี้จึงทำให้มีการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตาน (พญาเบิก) ที่ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางและสร้างศาลเจ้าพ่อขุนตาลในพื้นที่หมู่บ้านห้างฉัตรเหนือ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นศุนย์กลางทางความเชื่อและความศรัทธารวมถึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านในอำเภอห้างฉัตร

นอกจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์แล้วยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อขุนตาน เนื่องจากชาวบ้านในอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีวัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมที่ยึดเอาเจ้าพ่อขุนตานเป็นศูนย์กลางของชุมชนยังคงรักษาและสืบทอดประเพณีพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อขุนตาน ซึ่งบางประเพณีก็ไม่มีการประกอบพิธีกรรมหรือประเพณีนี้ที่ไหนอีกแล้วมีแค่ในอำเภอห้างฉัตร ซึ่งประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ พิธีกรรมไขประตูดอยเป็นภูมิปัญญาแห่งการจัดการน้ำ พิธีกรรมเลี้ยงห้วยเลี้ยงฮ่องเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พิธีกรรมหลงใหม่และวังอี่นาเป็นพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาแห่งการเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งพิธีแห่ช้างเผือกเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาแห่งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนบนความเชื่อความศรัทธามานับหลายร้อยปี รวมถึงพิธีแห่หอผ้า ประเพณีวัดดอยนาย(ปางม่วง) และสุดท้ายคือประเพณีแห่บอกไฟ

จากประวัติศาสตร์มาสู่ปัจจุบันซึ่งเราเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความภาคภูมิใจในชุมชนจึงอยากจะเล่าเรื่องเราในท้องถิ่นของเราเพื่อให้ผู้อื่นได้รู้และมาท่องเที่ยวในชุนของเราที่ไม่ได้มีแค่อุทยานประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นรวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่เรียบง่าย จากการเล่าเรื่องราวนี้เราหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สิ่งดี ๆ เช่นสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี ที่มีในชุมชนไม่หายไปตามกาลเวลา

ที่มา : https://www.museumthailand.com/th/3266/storytelling/เจ้าพ่อขุนตาน/