ตำบลแม่สัน

เทศบาลตำบลปงยางคก

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สัน ตั้งอยู่ที่บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สัน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากอำเภอห้างฉัตร ประมาณ 12 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 73.90 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 46,188 ไร่

ตราสัญลักษณ์

พระเจดีย์ หมายถึง สิ่งที่ก่อสร้างหรือสิ่งของที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพบูชาระลึกถึง หรือหมายถึง สถานที่สำคัญทางศาสนาของผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในความหมายของโลโก้นี้ ก็คือ วัด วัดคือสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่รวบรวมจิตใจ ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชน วัดดอกด้าย ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่เก่าแก่ และมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนชาวตำบลแม่สัน เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจน้อมนำไปยังสิ่งที่ดีงาม เป็นสถานที่ไว้ทำกิจทางพระพุทธศาสนา, ทำพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงเข้าพรรษา ตลอดระยะเวลา 3 เดือน และยังเป็นสถานที่สำหรับทำพิธีอุปสมบทของประชาชนในตำบลแม่สันและตำบลเมืองยาวอีกด้วย
การจับมือ หมายถึง การทักทายตามธรรมเนียมตะวันตก เพื่อแสดงมิตรไมตรีต่อกัน การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือร่วมแรงร่วมใจกัน
โดยรวมแล้ว ความหมายในโลโก้ อบต.แม่สัน หมายถึง ตำบลแม่สัน มีสถานที่สำคัญ คือวัดดอกด้าย ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่และอยู่คู่ตำบลแม่สันมายาวนาน เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และสถานที่สำคัญในการทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีการร่วมมือร่วมใจกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในตำบล

ประวัติ

เดิมตำบลแม่สัน เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งเกวียน หมู่ที่ 2 บ้านปันเต้า – นาเงิน หมู่ที่ 3 บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 4 บ้านแม่สัน หมู่ที่ 5 บ้านโป่งขวาก ในปี พ.ศ. 2470 ได้เกิดกบฏ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 และได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2478 สมัยรัชกาลที่ 8 จอมพล ป.พิบูลย์ สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปฏิรูปการปกครองใหม่อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2483 ตำบลแม่สันได้ถูกจัดระบบแบ่งการปกครองใหม่ ซึ่งในขณะนั้น กำนันเทศ ไชยมะโน เป็นกำนันตำบลแม่สัน ได้ถูกยุบไปรวมกับตำบลเมืองยาว และแยก หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งเกวียนไปรวมกับตำบลห้างฉัตร ต่อมาจำนวนประชากรในตำบลเมืองยาวเพิ่มมากขึ้น หมู่บ้านก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้การปกครองดูแลไม่ทั่งถึง จึงได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกตามแนวลำน้ำแม่ยาว ในปี พ.ศ. 2504 ตำบลแม่สัน จึงได้แยกออกจากตำบลเมืองยาว โดยมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านป่าเหียง หมู่ที่ 2 บ้านลุ่มกลาง หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 4 บ้านแม่สัน หมู่ที่ 5 บ้านโป่งขวาก หมู่ที่ 6 บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 7 บ้านปันเต้า – นาเงิน ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการแยกหมู่บ้านอีก 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาเงิน ซึ่งแยกออกจากบ้านปันเต้า หมู่ที่ 7 และในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการแยกหมู่บ้านอีก 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวทุ่งพัฒนา โดยแยกออกจากบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 3 ปัจจุบันมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยว

วัดพระธาตุม่อนไก่เขี่ย ต.แม่สัน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ความสำคัญของวัด

มีที่มาจากตำนานม่อนพญาแช่ที่เกี่ยวข้องกับฤๅษี 5 ตน แห่งเมืองกุกุฏนคร กล่าวถึงในอดีตชาติสมัยหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นเจ้ามหาวงค์แตงอ่อน พระองค์ได้นำไก่มาตั้งแข่งขันกันที่ดอยม่อนไก่แจ้ และมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น โดยไก่แจ้ตัวหนึ่งแข่งขันท้าทายอยู่ที่ม่อนดอยตรงกันข้าม นั่นก็คือที่ม่อนไก่เขี่ยลูกนี้ ขันคุ้ยเขี่ยแล้วก็หายไปด้วยเจ้าของไก่ตัวนี้ไม่ยอมแข่งขันกับไก่ของพระพุทธองค์ เพราะรู้ว่าสู่ไม่ไหวจึงวิ่งหนีเตลิดไปแอบอยู่ที่อำเภอเมืองลี้ ครั้นสมัยพระพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเมืองยาว ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาตั้งเรียงรายยาวกัน 4 ลูก ทรงเล็งเห็นว่าบัดนี้สมควรจะประดิษฐานพระเกศา จึงได้นำพระเกศาให้พวกตำปิละ (ทัมมิละ-ทมิฬะ-หมายถึงคนพื้นเมืองผิวคล้ำ) สั่งให้เอาไปบรรจุไว้ในภูเขา 4 ลูก คือม่อนไก่แจ้ ม่อนไก่เขี่ย และดอยกู่แก้วหรือดอยคู่แก้ว ดอยละ 1 เส้น

ความเป็นมาของเมืองยาว และพระธาตุม่อนไก่เขี่ยนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคหริภุญไชย เพราะเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับเขตจังหวัดลำพูนทางอำเภอแม่ทา ขบวนเสด็จของพระนางจามเทวี และเจ้าอนันตยศ เมื่อขยายอาณาเขตจากลุ่มน้ำปิงมาสู่ลุ่มน้ำทา และลุ่มน้ำวัง จำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่านนี้ (ในยุคก่อนที่จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ลอดถ้ำขุนตาน)

พระธาตุม่อนไก่เขี่ยคงได้รับการบูรณะสืบต่อมาอีกหลายครั้ง บางช่วงบางตอนก็ถูกทิ้งร้างไป จนถึง ยุคของครุบาเจ้าศรีวิชัยที่ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นประธานในการบูรณะครั้งใหญ่ น่าจะเป็นเวลาช่วงเดียวกัน กับการบูรณะพระธาตุดอยคู่แก้ว และพระธาตุม่อนไก่แจ้ แต่ในเรื่องความแน่ชัดของศักราชยังมีความสับสนอยู่ เนื่องจากไม่มีหลักฐานด้านลายลักษณ์อย่างชัดเจน

เมื่อยึดถือตามข้อสมมุติฐานที่ว่า พระธาตุม่อนไก่เขี่ยสร้างขึ้นมาร่วมสมัยกับพระธาตุดอยคู่แก้วแล้ว ก็อาจกำหนดศักราชได้ว่าสร้างในปี 2463 ในช่วงหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมาแวะลำปางด้วยรถไฟและไปที่ เมืองยาว อ้างจาก “ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร”ซึ่งปริวรรตโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับศักราชที่ครูบาศรีวิชัย เดินทางมาที่เมืองยาวนั้น จากการสัมภาษณ์ พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมโม เจ้าอาวาสวัดป่าปงสนุก และเจ้าคณะตำบลใหม่พัฒนา อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้เล่าตามที่ท่านได้ทราบจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชื่อ “พ่ออาจารย์หนานยศ” ซึ่งปัจจุบันอายุเกือบ 100 ปี ในวัย 10 กว่าขวบเคยเป็นเณรน้อย บิดามารดาให้นอนเฝ้าครูบาศรีวิชัยทุกคืน ว่าพระธาตุทั้ง 4 องค์ ในกลุ่มเมืองยาวนี้ (พระธาตุสององค์ที่ดอยคู่แก้ว พระธาตุม่อนไก่แจ้ และ พระธาตุม่อนไก่เขี่ย) ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางมาสร้างก่อนหน้าที่จะมีปัญหาเรื่องการต้องอธิกรณ์แล้ว โดย เดินธุดงค์มาจากช่องเขาผาด่านอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มาทะลุออกที่เมืองยาว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี 2456 แล้ว เมื่อครูบาศรีวิชัยมีอายุ 35 ปี ใช้เวลาสร้างพระธาตุ 4 องค์ ทั้งสิ้น 2 ปี 8 เดือน โดยชาวบ้านยังได้เก็บเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างพวกถังปูน ค้อน เกรียง ฯลฯ กันไว้หลายบ้าน พร้อมกับเก็บรอยฝ่าเท้าที่ประทับลงบนผ้าขาวของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งผ่านมาทางน้ำตกผาตาแสง ตามรอยเส้นทางพระเจ้าเยียบโลก ซึ่งที่น้ำตกผาตาแสงยังมีก้อนหินก้อนใหญ่คล้ายกับแท่นธรรมาสน์ กล่าวกันว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์เคยเทศนาธรรมปลาช่อน เพื่อโปรดให้ชาวบ้านมีน้ำอุดมสมบรูณ์ จากนั้นทรงซักผ้าเพราะลิงถ่ายมูลใส่จีวร

หากคำบอกเล่าของชาวบ้านไม่คลาดเคลื่อนอาจเป็นไปได้ว่าปีศักราช 2463 การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมายังเมืองยาวในช่วงสั้น ๆ หลังจากลงรถไฟที่สบตุ้ย และนอนค้างแค่คืนเดียว เพราะวันรุ่งขึ้นได้เดินทางไปอำเภอแม่ทาของลำพูนนั้น น่าจะเป็นการมานมัสการพระธาตุ ทั้ง 4 องค์แห่งเมืองยาว

ที่ท่านได้บูรณะไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2456 หรืออาจมาสร้างเสริมเก็บรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ให้สมบรูณ์

เมื่อราว 10 ปี ที่ผ่านมา หลวงพ่อภุมริน มหาวิริโย อดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนมาจำพรรษา ได้บรูณะพระธาตุม่อนไก่เขี่ยอีกครั้งร่วมกับญาติธรรม และศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย และได้สร้างพระพุทธรูปทันใจประดิษฐานไว้ใน ณ ศาลาบำเพ็ญบุญที่สร้างใหม่นั้นด้วย