ตำบลเมืองยาว

เทศบาลตำบลเมืองยาว

ตั้งอยู่ในเขตการปกครองอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ประกอบไปด้วย 14 หมู่บ้าน มีประวัติความเป็นมาของตำบล เมื่อประมาณปี พ.ศ.2340 โดยการนำของท้าวแสนคำวงษ์ , พ่ออุ้ยตั๋นพ่ออุ้ยซาว,พ่ออุ้ยหนาน ได้อพยพครอบครัวมาจากอำเภอเกาะคาและอำเภอแม่ทา เข้ามาจับจองที่ดินตามชายทุ่ง ป่าละเมาะ และตามสองฝั่งลำน้ำแม่ห่วงที่อยู่ทางทิศเหนือและแม่น้ำเกี๋ยงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ และแม่น้ำสองสายนี้ไหลผ่านทางเดียวกัน ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากลำน้ำทำการเกษตรและบริโภค ต่อมามีชาวบ้านได้อพยพาตั้งบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายตามแนวยาวสองฝั่งแม่น้ำ พออยู่นานๆเข้า ชาวบ้านก็ได้พบปู้ชนียสถานอันเก่าแก่ตั้งอยู่เชิงเขา และได้นำเอาก้อนหินและอิฐมาให้พระครูบาศรีวิชัยตรวจดู แล้วได้สร้างพระธาตุดอยกู่แก้วขึ้น ชาวบ้านในละแวกนั้นได้ยินคำเล่าลือจึงมีความศรัทธาและได้พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยาวตามแนวลำน้ำที่ไหลผ่านจึงเรียกตำบลนี้ว่า “เมืองยาว” คือ หมู่บ้านจะยาวอยู่ตามลำน้ำแม่เกี๋ยง

เนื้อที่

ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีภูเขา ฤดูแล้งขาดน้ำในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้างฉัตรประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 123,878 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 77,423,750 ไร่

วิสัยทัศน์ท้องถิ่น

“พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ส่งเสริมวัฒนธรรม มีธรรมมาภิบาลในหัวใจ รับใช้ประชาชน”

ประวัติ

ตำบลเมืองยาว ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ประกอบไปด้วย ๑๕ หมู่บ้าน มีประวัติความเป็นมาของตำบล คือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๐ โดยการนำของท้าวแสนคำวงษ์ , พ่ออุ้ยตั๋น , พ่ออุ้ยซาว , พ่ออุ้ยหนาน ได้อพยพครอบครัวมาจากเขต อำเภอเกาะคา และอำเภอแม่ทา เข้ามาจับจองที่ดินตามชายทุ่ง ป่าละเมาะ และตามสองฝั่งลำน้ำแม่ห่าง ที่อยู่ทางทิศเหนือ และแม่น้ำแม่เกี๋ยงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งแม่น้ำทั้งสองสายนี้ไหลมาทางเดียวกัน ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากลำน้ำนี้ทำการเกษตรและบริโภค ต่อมามีชาวบ้านได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างกระจัดกระจายตามแนวสองฝั่งแม่น้ำ พออยู่นานๆเข้าชาวบ้านก็ได้พบปูชนียสถานอันเก่าแก่ ตั้งอยู่เชิงเขาและได้นำเอาก้อนหิน และอิฐมาให้พระครูบาศรีวิชัยตรวจดู แล้วจึงได้สร้างพระธาตุดอยกู่แก้วขึ้น ชาวบ้านนั้นได้ยินคำเล่าลือในพระธาตุดอยกู่แก้ว จึงมีความศรัทธา และได้พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยาวตามแนวลำน้ำที่ไหลผ่าน จึงเรียกตำบลนี้ว่า เมืองยาว ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านจะยาวอยู่ตามลำน้ำแม่เกี๋ยงและลำน้ำแม่ห่าง

สถานที่ท่องเที่ยว

  • วัดพระธาตุดอยคู่แก้ว ( พระธาตุกู่ไก่แก้ว ) ต.เมืองยาว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
  • วัดม่อนไก่แจ้ ต.เมืองยาว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

วัดพระธาตุดอยคู่แก้ว ( พระธาตุกู่ไก่แก้ว )

ความสำคัญของวัด

เนื่องจากที่ตั้งวัดมีการประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์แท่งบนดอยสองลูกติดกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ ดอยคู่แก้ว ” (ออกเสียงแบบคนพื้นเมืองภาคเหนือเป็น “ กู้ ” บ้างก็เรียกว่า “ ดอยกู่ ” คือมี “ กู่ ” หรือ “ พระธาตุ ” คู่กันนั่นเอง ส่วนคำว่า “ แก้ว ” เนื่องจากชาวบ้านได้เห็นลูกแก้วลอยไปลอยมาระหว่าง พระธาตุทั้งสององค์

วัดแห่งนี้มีตำนานร่วมกับอีก ๒ แห่งนั้นคือ พระธาตุม่อนไก่แจ้และพระธาตุม่อนไก่เขี่ย ในเขต ตำบลเมืองยาว อำเภอห้างฉัตรเช่นกัน เรื่องราวปรากฏในตำนานไก่ขาว ที่สัมพันธ์กับตำนานฤๅษี ๕ ตน กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณ พลันนึกถึงแห่งนี้ เห็นเขา ๔ ลูกเรียงกัน พลันนึกถึงอดีตชาติที่เคยเกิดเป็นเจ้ามหาวงศ์แตงอ่อน ได้นำไก่มาแข่งขันที่เขาลูกหนึ่งคือ ดอยม่อนไก่แจ้ และที่ม่อน ตรงข้ามมีไก่แจ้ตัวหนึ่งขันแข่งท้าทาย แล้วคุ้ยเขี่ยหายไป เจ้าของไก่ก็หลบหนีหายไปยังเมืองลี้ เมื่อเล่าเสร็จ ก็นำเกศา ๔ เส้นมอบให้ฤๅษี ซึ่งต่อมาก็ไปบรรจุที่ดอยคู่ หรือดอยกู่ ๒ เส้น (ลูกละเส้น) เส้นที่ ๓ ไว้ที่ม่อนไก่แจ้เส้นที่ ๔ เอาไว้ที่ดอยม่อนไก่เขี่ย วัดแห่งนี้เจดีย์เป็น ๒ องค์ คือองค์น้องที่อยู่ด้านล่าง และองค์พี่อยู่ด้านบน

มีหลักฐานว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุคู่แก้ว หรือกู่ไก่แก้ว อย่างต่ำ ๒-๓ ครั้ง จากหนังสือคร่าวซอของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ครั้งแรกคือ หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีชัยกลับจากการต้องอธิกรณ์ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามกรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้นั่งรถไฟจากหัวลำโพงแวะมาลงสถานีรถไฟลำปางที่สบตุ๋ย และเดินทางมายังเมืองยาว ก่อนถึงเมืองยาวครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แวะร่วมทำบุญที่วัดสองแห่งตามที่มีผู้นิมนต์ในเส้นทางผ่าน ได้แก่ วัดนาก่วมใต้ ๑๐๐ รูเปีย สำหรับยกช่อฟ้าพระวิหาร หลังจากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณะ

“วัดเมืองยาว ลำปางใต้หล้า พระเจติยาก่อไว้หกสิบห้าเป็นตราเงินใช้ รอมร่ายหื้อเนอนาย แจ้ง รุ่งเช้า บ่ทันเถิงขวาย ทั้งเจ้าและนาย ม่านเงี้ยวต่องสู้”
เห็นได้ว่าคำคร่าวที่ยกมานี้ใช้คำว่า “พระเจติยา” “วัดเมืองยาว” แต่ไม่ได้ระบุชื่อเฉพาะว่าหมายถึงพระธาตุองค์ไหนที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองยาวของอำเภอห้างฉัตร ซึ่งในเขตนี้มีผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างไว้ถึงสี่องค์ ได้แก่ พระธาตุม่อนไก่เขี่ย พระธาตุม่อนไก่แจ้และอีกสององค์ที่พระธาตุดอยคู่แก้ว

เมื่อตรวจสอบกับหนังสือ “ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร” ที่ปริวรรตโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กล่าวว่าหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยพ้นโทษอธิกรณ์กลับจากกรุงเทพ ฯ

“ในพุทธศักราช ๒๔๖๓ นี้ ท่านได้สร้างพระธาตุดอยกู่แก้วเมืองยาว แขวงลำปาง เสี้ยง (หมดเงิน) วัตถุ ๖๐ รูเปีย แล้วกลับมาอยู่ลำพูน”
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาการไปเมืองยาวเกิดขึ้นหลังกลับจากการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกเหมือนกัน และจำนวนเงินที่เอกสารสองฉบับระบุตัวเลขใกล้เคียงกันคือ ๖๕ กับ ๖๐ รูเปีย ดังนี้แล้ว จังเป็นที่แน่ชัดว่า ปริศนาของคำว่า “พระเจติยาเมืองยาว” ย่อมน่าจะหมายถึงพระธาตุดอยคู่แก้ว ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาสร้างปี ๒๔๖๓
นอกจากนี้แล้ว ยังพบหลักฐานที่ระบุถึงการเดินทางไปสร้างพระธาตุดอยคู่แก้วอีกครั้ง ประมาณ ปี ๒๔๖๔-๒๔๖๕ ภายหลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยรับหน้าที่ประธานการบูรณะวิหารพระเจ้าตนหลวง เมืองพะเยาแล้ว ดังข้อความที่ว่า

“เมื่อเสร็จจากพะเยา ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางกลับทางแจ้ห่ม ลำปาง ได้รับนิมนต์สร้างพระธาตุ-ดอยเต่า ต่อด้วยด้วยพระธาตุดงนั่ง ต่อด้วยวิหารอุโขต่อด้วยพระธาตุม่อนไก่แก้ว สลับกับขึ้นไปพะเยาเป็นช่วงๆ”
สอดคล้องกับประวัติความเป็นมาของเมืองยาวที่บันทึกโดยชุมชน ได้กล่าวว่าหลังจากที่ชาวบ้านได้ ตั้งบ้านเรือนอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ภายใต้การอพยพมานำโดยท้าวแสนคำวงศ์ พ่ออุ้ยตัน พ่ออุ้ยซาว พ่ออุ้ยหนาน ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๓๔๐ แล้ว อยู่ต่อมาชาวบ้านได้พบซากดินกี่ (อิฐ) เป็นเนินโบราณกระจายอยู่ตามเชิงเขา จึงได้ไปนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้มาช่วยดำเนินการบูรณะฟื้นฟูวัดร้างในเมืองยาวแห่งแรกคือพระธาตุดอยคู่แก้ว
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ ระบุพระธาตุดอยคู่แก้วสร้างในปี ๒๔๖๓ และจัดให้เป็นโบราณสถานรุ่นแรกในเขตจังหวัดลำปางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการบูรณะ

ในขณะที่ พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าปงสนุก และเจ้าคณะตำบลใหม่พัฒนา อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ระบุว่าพระธาตุดอยคู่แก้ว สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับพระธาตุม่อนไก่เขี่ย และพระธาตุม่อนไก่แจ้ ตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ ก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะต้องอธิกรณ์

วัดม่อนไก่แจ้ ต.เมืองยาว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ความสำคัญของวัด

พระธาตุม่อนไก่แจ้เป็นเจดีย์ที่กล่าวว่า บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวน 1 เส้น โดยอิงมาจากตำนานม่อนพญาแช่ ซึ่งกล่าวถึงการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองกุกุฏนครที่สถิตของฤๅษี 5 ตน เมื่อพระองค์เสด็จมาเห็นเขา 4 ลูกเรียงกัน ก็นึกถึงอดีตที่เคยเสวยพระชาติเป็นเจ้ามหาวงค์แตงอ่อน ได้นำไก่มาแข่งขันที่เขาลุกหนึ่ง คือ ดอยม่อนไก่แจ้ และที่ม่อนตรงข้ามมีไก่แจ้ตัวหนึ่งขันแข่งท้าทาย แล้วคุ้ยเขี่ยหายไปพร้อมเจ้าของไก่ (ม่อนไก่เขี่ย) เมื่อเล่าเสร็จก็นำเกศา 4 เส้นมอบให้ฤๅษีต่อมาได้นำไปบรรจุที่ดอยคู่แก้วจำนวน 2 เส้น (ลูกละเส้น) เส้นที่ 3 ไว้ที่ม่อนไก่แจ้ เส้นที่ 4 เอาไว้ที่ม่อนไก่เขี่ย

พระธาตุม่อนไก่แจ้สร้างขึ้น พ.ศ. 2404 ตรงกับปีวอก ตามคำพื้นเมืองเรียกว่าปีกดสัน โดยพระอาจารย์ชมพู หลังจากนั้นก็ร้างไปอีกช่วงหนึ่ง จนถึงยุคของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในหนังสือคร่าวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่งโดยพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ได้กล่าวถึงการเดินทางมาที่พระธาตุม่อนไก่แจ้ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าอยู่ในระหว่างช่วงที่เป็นประธานก่อสร้างวิหารเจ้าตนหลวง เมืองพะเยา และได้ใช้เส้นทางสายวังเหนือ-แจ้ห่ม ขึ้นๆ ล่องๆ ระหว่างพะเยา-ลำปางหลายรอบ กระทั่งเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๔ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาถวายพระธาตุม่อนไก่แจ้ หมดเงินค่าก่อสร้างไป ๔๕๕ รูเปีย ดังคำคร่าวนี้

“ คันเถิงรอดแล้ว เดือนเชฏฐกา ทสมา ๑๐ ค่ำ แรมแหล้ ท่านมาทาน ธาตุดอยไก่แจ้ อยู่แขวงเมืองยาวหัวน้ำ จังหวัดลำพาง ท่านชูช่วยค้ำ คึดร่ำสร้างเป็นทาน ปฐมะ เดือนสิบเริ่มการ ขึ้น ๙ ค่ำทาน เถิงแรมค่ำหน้า ๔ ร้อยรุเพีย กับ ๕๕ หมายบาญชีไว้แล้ว”

คร่าวฉบับเดิมยังกล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเสร็จภารกิจที่วัดม่อนไก่แจ้แล้ว ได้ลงไปบูรณะพระบรมธาตุดอนเต้า กับพระธาตุดอยน้อยที่เกาะคาต่อ

ในขณะที่ชื่อของพระธาตุม่อนไก่แจ้ ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีที่ครูบาอภิชัยขาวปีสร้าง-บูรณปฏิสังขรณ์ว่ามีค่าก่อสร้าง “พระเจดีย์ดอยไก่แจ้ บ้านสันกำแพง ตำบลป่าเหียง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง สิ้นเงิน ๑,๖๐๐ บาท” หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยได้มาวางรากฐาน พระธาตุม่อนไก่แจ้องค์นี้แล้ว ได้มอบหมายให้ครูบาอภิชัยขาวปีทำหน้าที่สืบสานงานสร้างเสริมต่อให้เสร็จ และครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กลับมาทำพิธีถวายทานยกฉัตรพระธาตุอีกครั้ง

แต่พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าปงสนุก และเจ้าคณะตำบลใหม่พัฒนา ผู้ฟื้นวัดร้างม่อนไก่แจ้ เล่าว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้เมื่อท่านอายุ ๓๕ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๖ ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมา มีหมู่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จากอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง และทุ่งหัวช้าง จำนวนหลายร้อยคนติดตามมาด้วย ในช่วงก่อสร้างมีบรรยากาศที่ครึกครื้น เพราะมีการเป่ากอย (เครื่อง-ดนตรีกะเหรี่ยงคล้ายปี่แน) คณะของครูบาเจ้าศรีวิชัยจะใช้วัดป่าปงสนุกเป็นสถานที่พักยั้งตระเตรียมเสบียงและวัสดุ

เครื่องมือก่อสร้าง บริเวณพระธาตุม่อนไก่แจ้ด้านบนมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ 1 ต้น เป็นสถานที่นั่งวิปัสสนาของครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาอภิชัยขาวปี

ในขณะที่กรมศิลปากรระบุว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างพระธาตุม่อนไก่แจ้ปี 2469

พ.ศ. 2525 พระธาตุม่อนไก่แจ้ได้รับการบูรณะโดยพระอาจารย์อุชิน อรุโณ

ส่วนมูลเหตุที่ทำให้วัดม่อนไก่แจ้ยังไม่มีเจ้าอาวาสจำพรราอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมโม เล่าว่าเนื่องมาจากสถานที่ดังกล่าวครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมานั่งกัมมัฏฐานค่อยข้างบ่อย และกำหนดให้เป็นเขตอภัยทาน ดังนั้นหากพระภิกษุที่มาจำพรรษาแล้วไม่ได้ฉันมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดตามอย่างปฏิปทาของครูบาเจ้าศรีวิชัยมักอยู่ที่นี้ได้ไม่ค่อยนาน